แผ่นดินไหว

                                              ในโลกนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แผ่นดินไหวเกิดจากธรรมชาติ เนื่องจากพื้นผิวโลกมีลักษณะเป็นแผ่น ๆ เคลื่อนที่ไปมาก็เกิดการชนกันบ้าง มุดตัวกันบ้าง จนทำให้เกิดการเสียดสีและแผ่นเปลือกโลกเกิดการคดโค้งโก่งงอ มีการสะสมพลังงาน เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแผ่นดินไหว ส่วนที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การระเบิดต่าง ๆ การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ อุกกาบาตก็เป็นสาเหตุหนึ่งของแผ่นดินไหวแต่นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสาเหตุที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก และประการสำคัญเกิดจากรอยเลื่อนหรือรอยแตกบนเปลือกโลก

           รอยเลื่อน ก็คือรอยแตกในหินแล้วมีการเคลื่อนตัว เมื่อเคลื่อนตัวครั้งหนึ่งก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว ในรอยเลื่อนหนึ่ง ๆ อาจจะเกิดการเคลื่อนตัวหลาย ๆ ครั้งได้

           แผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทยมีรอยเลื่อนอยู่มาก รอยเลื่อนบางแนวในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ เราเรียกว่า “ รอยเลื่อนมีพลัง ” เป็นบริเวณที่ก่อกำเนิดแผ่นดินไหวได้

           ขนาดแผ่นดินไหวมีหน่วยวัดความสั่นสะเทือนเป็นริกเตอร์ เท่าที่เคยวัดได้ขนาดสูงสุดประมาณ 9.1 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ๆ ขนาดนี้จะเกิดนาน ๆ ครั้ง อาจจะช่วงระยะ 1,000 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้ง ไม่เหมือนแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง เช่น 4 – 6 ริกเตอร์ จะเกิดบ่อย แต่ถ้าขนาด 1 – 3 ริกเตอร์ อาจจะแทบทุกวัน

           ในประเทศไทยเคยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดเท่าที่บันทึกได้ประมาณ 5.9 ริกเตอร์ เกิดแถวกาญจนบุรี แผ่นดินไหวครั้งนั้นไม่ได้มีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกกฏกระทรวง ฉบับที่ 49 โดยบังคับให้จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบแผ่นดินไหวประมาณ 10 จังหวัด ให้มีการป้องกันเกี่ยวกับการก่อสร้างตึกสูงเอาไว้ แผ่นดินไหวที่เกิดในบ้านเราค่อนข้างมีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ หรือพม่า ซึ่งประเทศเหล่านั้นต้องอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “ แนวแผ่นดินไหว ” จึงเกิดแผ่นดินไหวบ่อย บางครั้งอาจรุนแรงมาก

           เรื่องขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหวนี้ มีหลายคนมักจะใช้สับสนกัน เช่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า มีขนาด 6 ริกเตอร์ เครื่องวัดแผ่นดินไหวที่พม่าก็จะวัดได้ 6 ริกเตอร์ ที่เมืองไทยก็จะวัดได้ 6 ริกเตอร์ และที่จีนก็จะวัดได้ 6 ริกเตอร์เหมือนกัน เพราะเป็นการวัดที่จุดศูนย์กลาง ฉะนั้น ไม่ว่าจะวัดตรงจุดไหนก็จะมีขนาดเท่ากันหมด แต่ความรุนแรงที่เกิดจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่อยู่ใกล้จุดที่เกิดแผ่นดินไหวแค่ไหน ถ้าใกล้ก็จะมีความรุนแรงมาก และห่างออกไปก็จะมีความรุนแรงน้อยลง แต่ถ้าเกิดใกล้ชุมชนมากก็จะมีความรุนแรงมาก เกิดความเสียหายมากก็จะถือว่ามีความรุนแรงมาก แต่บางทีมีแผ่นดินไหวขนาดแค่ 6 หรือ 7 ริกเตอร์ ก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้มากดังเช่นที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดใกล้เมืองโกเบมากเลยก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง มีคนตายเกือบ 6,000 คน บ้านเรือนเสียหายมาก ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย 100,000 คน ถือว่ามีความร้ายแรงมาก

           แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นไม่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย เนื่องจากระยะทางห่างกันมาก แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือการเกิดแผ่นดินไหวในพม่า และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจมีผลต่อพื้นที่ลาดชันและเขาสูง เช่น บริเวณเชิงเขาลาดชันอาจเกิดดินถล่มลงมาและเป็นอันตรายต่อบ้านเรือนในพื้นที่ใกล้เคียงได้

ระดับความรุนแรงแผ่นดินไหว ตามมาตราเมอร์คัลลี
ความรุนแรง สภาพของแผ่นดินไหวความรุนแรง
1 คนธรรมดาจะไม่รู้สึกแต่เครื่องวัดสามารถตรวจจับได้
2 (อ่อน ) คนที่มีความรู้สึกไวจะรู้สึกว่าแผ่นดินไหวเล็กน้อย
3 (เบา ) คนที่อยู่กับที่รู้สึกว่าพื้นที่สั่น
4 (พอประมาณ ) คนที่สัญจรไปมารู้สึกได้
5 (ค่อนข้างแรง ) คนที่นอนหลับก็ตกใจตื่น
6 (แรง ) ต้นไม้สั่น บ้านแกว่ง สิ่งปลูกสร้างบางชนิดพัง
7 (แรงมาก ) ฝาห้องแยกร้าว กรุเพดานร่วง
8 (ทำลาย ) ต้องหยุดขับรถยนต์ ตึกร้าว ปล่องไฟพัง
9 (ทำลายสูญเสีย ) บ้านพัง ตามแถบรอยแยกของแผ่นดินท่อน้ำท่อแก๊สขาดเป็นตอน ๆ
10 (วินาศภัย ) แผ่นดินแตกอ้า ตึกแข็งแรงพัง รางรถไฟคดโค้ง ดินลาดเขาเคลื่อนตัวหรือถล่มตอนชัน ๆ
11 (วินาศภัยใหญ่ ) ตึกถล่ม สะพานขาด ทางรถไฟท่อน้ำและสายไฟใต้ดินเสียหาย แผ่นดินถล่ม น้ำท่วม
12 (มหาวิบัติ ) ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดินแถบนั้นเสียหายโดยสิ้นเชิง พื้นดินเคลื่อนตัวเป็นลูกคลื่น
           
           สภาพความรุนแรงของแผ่นดินไหวแบ่งออกเป็น 12 ระดับ เริ่มจากความรุนแรงน้อยสุดคือ ระดับ 1 ไปจนถึงระดับ 12 เป็นระดับความรุนแรงสูงสุด แต่ถ้ารุนแรงระดับ 6 ขึ้นไปจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น เมื่อปี 2537 เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย ขนาดประมาณ 5.6 ริกเตอร์ แต่มีความรุนแรงระดับ 6 – 7 ทำให้อาคารร้าวใช้การไม่ได้ แต่เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดนาน ๆ ครั้ง

www.cmmet.com/seismo/seismiczone.gif ( แผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทย )

เอกสารอ้างอิง : ร่วมด้วยช่วยป้องกันดินถล่ม กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(กุมภาพันธ์ 2547)