คำสอนของในหลวง

ธรรมะจากหลวงพ่อปราโมทย์

อเหตุกจิตจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ภาวะทางจิต ของนิพพานพระธรรมปิฎก(ปยุต ปยุตฺโต)


พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 1

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 2

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 3

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 4

พุทธโอวาทฯ ก่อนปรินิพพาน 5 (จบ)
พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี สัมมาวาจา
 

ภาวะทางจิต ของนิพพาน

แม้นิพพาน จะเป็นสุข    และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข    แต่ผู้บรรลุนิพพาน ไม่ติดในความสุข  ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพานด้วย     เมื่อรับรู้อารมณ์ต่างๆจากภายนอก  ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  เป็นต้น  พระอรหันต์ยังคงเสวยเวทนาที่เนื่องจากอารมณ์เหล่านั้น   ทั้งที่เป็นสุข(คือ สุขเวทนา - webmaster)  ทั้งที่เป็นทุกข์(คือ ทุกขเวทนา)  และไม่สุขไม่ทุกข์(อทุกขมสุขเวทนา)  เช่นเดียวกับคนทั่วไป   แต่มีข้อพิเศษตรงที่  ท่านเสวยเวทนาอย่างไม่มีกิเลสร้อยรัด  ไม่ติดเพลินหรือข้องขัดอยู่กับเวทนานั้น    เวทนานั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา (เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท - webmaster)   เป็นการเสวยเวทนาชั้นเดียว  เรียกสั้นว่าเสวยเวทนาทางกาย  ไม่เสวยเวทนาทางจิต (หมายถึง เวทนาทางจิตแม้เกิดอยู่เป็นธรรมดา แต่ไม่เป็นเวทนูปาทานขันธ์อันคือเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน อันยังให้เร่าร้อนเผาลนแท้จริง - webmaster)  ไม่ทำให้เกิดความเร่าร้อนกระวนกระวายภายใน  เรียกว่าเวทนานั้นเป็นของเย็นแล้ว    การเสวยเวทนาของท่านเป็นการเสวยชนิดที่ไม่มีอนุสัยตกค้าง    ต่างจากปุถุชนที่เมื่อเสวยสุขก็จะมีราคานุสัยตกค้าง    เสวยทุกข์ก็มีปฏิฆานุสัยตกค้าง    เสวยอารมณ์เฉยๆก็มีอวิชชานุสัยตกค้าง    เพิ่มความเคยชินและความแก่กล้าให้แก่กิเลสเหล่านั้นมากยิ่งๆขึ้น    แต่สำหรับพระอรหันต์   สุขทุกข์จากภายนอกไม่สามารถเข้าไปกระทบถึงภาวะที่ดับเย็นเป็นสุขในภายใน    ความสุขของท่านจึงเป็นอิสระ  ไม่ขึ้นต่ออารมณ์หรือสิ่งต่างๆภายนอก  คือไม่ต้องอาศัยอามิส  ท่านเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง  หรือ  ยิ่งกว่านิรามิสสุขอย่างยิ่ง (นิรามิสสุขชั้นสามัญ คือ สุขในฌาน)    ในเมื่อสุขของท่านไม่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก  ความผันแปรเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายอันเป็นไปตามคติธรรมดาแห่งสภาพสังขารจึงไม่เป็นเหตุให้ท่านเกิดทุกข์    ถึงอารมณ์ ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมมารมณ์ - webmaster)  จะแปรปรวนเคลื่อนคลาดหายลับ  ท่านก็ยังคงอยู่เป็นสุข    ถึงขันธ์ ๕ จะผันแปรกลับกลายไปเป็นอื่น  ท่านก็ไม่เศร้าโศกเป็นทุกข์  ความรู้เท่าทันในความไม่เที่ยงแท้และสภาพที่ผันแปรนั้นเอง  ย่อมทำให้เกิดความสงบเย็น  ไม่พล่านส่ายไม่กระวนกระวาย  อยู่เป็นสุขได้ตลอดเวลา    ภาวะเช่นนี้ท่านว่าเป็นความหมายอย่างหนึ่งของการพึ่งตนได้  หรือการมีธรรมเป็นที่พึ่ง

ไม่ทรงติดแม้ในนิพพาน

          ภิกษุ ท.! แม้ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ก็รู้ชัดซึ่งนิพพานตามความเป็นนิพพาน.   ครั้นรู้นิพพานตามความเป็นนิพพานชัดแจงแล้ว ก็ไม่ทำความมั่นหมายซึ่งนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายในนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายโดยความเป็นนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายว่า "นิพพานเป็นของเรา", ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลงในนิพพาน.   ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า?  เพราะเหตุว่า นิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ตถาคตกำหนดรู้ทั่วถึงแล้ว.

          ภิกษุ ท.! แม้ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ก็รู้ชัดซึ่งนิพพานตามความเป็นนิพพาน.   ครั้นรู้นิพพานตามความเป็นนิพพานชัดแจ้งแล้ว ก็ไม่ทำความมั่นหมายซึ่งนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายในนิพพานไม่ทำความมั่นหมายโดยความเป็นนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายว่า "นิพพานเป็นของเรา", ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลงในนิพพาน.    ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า?  เรากล่าวว่า เพราะรู้ว่าความเพลิดเพลิน(นันทิ)เป็นมูลแห่งทุกข์  และเพราะมีภพจึงมีชาติ,  เมื่อเกิดเป็นสัตว์แล้วต้องมีแก่และตาย.  เพราะเหตุนั้นตถาคตจึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไป ปราศไป ดับไป สละไป ไถ่ถอนไป โดยประการทั้งปวงดังนี้.

บาลี มูลปริยายสูตร มู.ม. ๑๒/๑๐/๘-๙.
ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่โคนต้นสาละ ในป่าสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐะ.